เรียบเรียงโดย.....บุญสรอย บุญเอื้อ
ปัจจุบันนี้ จะสังเกตเห็นผู้คนมากมายใช้หูฟังจากโทรศัพท์มือถือ เครื่องเล่น MP3 หรือ I-pod ขณะอยู่ในสถานที่ต่างๆ เช่น รถเมล์ รถไฟ รถไฟฟ้า ห้างสรรพสินค้า สถานที่ออกกำลังกาย ตลอดจนทางเดินสาธารณะ และจากที่ผ่านมา จะมีข่าวการได้รับอันตรายจากผู้ใช้หูฟังในขณะที่กำลังเดินในสถานที่ต่างๆ ซึ่งบางรายถึงกับเสียชีวิตเพราะการที่เสียบหูฟังในขณะที่กำลังข้ามถนน ข้ามทางรถไฟ การขึ้น-ลง รถไฟฟ้า รถเมล์ รถไฟ เรือ หรือ เดินบนทางเท้าก็ตาม ย่อมก่อให้เกิดอันตรายได้ทุกเมื่อ เนื่องจากผู้ใช้กำลังสนใจและจดจ่อกับเสียงจากหูฟัง จึงไม่รับรู้ ไม่ได้ยินเสียงเตือนและขาดสติในการระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ แม้จะมีคนส่งเสียงเตือนก็ตาม
ประเภทของหูฟัง หูฟังที่ใช้อยู่ปัจจุบันมี 3 ประเภท คือ
1. In-Ear หรือ Ear -Plug แบบใส่เข้าไปในหู
2. Earbud แบบแปะหรือสวมแนบพอดีหู
3. Fullsize Headphone แบบครอบที่ใบหู
หูฟังในแต่ละแบบนั้นจะมีข้อดีและข้อด้อยแตกต่างกันไป แต่แบบที่กำลังเป็นที่นิยมมากที่สุดในหมู่ผู้ใช้งานเครื่องเล่นเพลงแบบพกพา ก็คือแบบ In-Earนั่นเอง เพราะได้ยินเสียงดังชัดเจน เสียงภายนอกแทรกเข้าไปยาก แต่...คุณทราบหรือไม่?ว่า หูฟังแบบใส่เข้าไปในหู (In-Ear) นั้นมีผลกระทบต่อประสาทการได้ยินมากกว่าการใช้ หูฟังชนิดอื่น เนื่องจากตัวลำโพงหูฟังจะอยู่ใกล้กับประสาทรับเสียงในหูมากที่สุด โดยเฉพาะการฟังเพลงของวัยรุ่นประเภทที่มีเสียงดนตรีหนักๆ อย่างเสียงเบสที่กระแทกหู ซึ่งหากฟังเสียงดังมากเกินกว่าระดับเสียงปกติที่คนเรารับได้ จะมีผลต่อระบบประสาทหูโดยตรง จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการ หูอื้อ หูตึง หรือหูหนวกได้
หูฟัง....นำอันตราย
การใช้หูฟังเป็นที่นิยมกันมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน ไม่ว่าจะเพื่อการ ดูหนัง ฟังเพลง คุยโทรศัพท์ แชต หรือ เล่นเกม ก็ตาม เนื่องจากสามารถเก็บเสียงได้ มีความเพลิดเพลิน ไม่สร้างความรำคาญหรือรบกวนผู้อื่น เหมาะกับการเป็น “โลกส่วนตัว”ของแต่ละคนได้เป็นอย่างดี แต่ในขณะเดียวกันผู้ใช้จะต้องมีความระมัดระวังและมีสติรู้ตลอดเวลา โดยเฉพาะผู้ขับขี่รถ ไม่ว่าจะเป็นรถส่วนตัวหรือรถรับจ้างก็ตาม ซึ่งอาจจะนำความไม่ปลอดภัยมาสู่ตนเองและเพื่อนร่วมทางทั้งบนถนนและทางเท้าได้ อีกทั้งผู้โดยสารที่กำลังขึ้น-ลงรถก็ต้องระมัดระวังเช่นกัน ซึ่งบางรายถูกรถชน บางคนเกือบจะตกรถเมล์ หรือรถไฟฟ้า เพราะการเสียบหูฟังในขณะนั้น ทำให้ขาดความระมัดระวัง จดจ่ออยู่กับเสียงที่ดังก้องในหูเท่านั้น จึงทำให้ขาดการรับรู้ว่าตอนนี้ตนเองกำลังทำอะไร หรืออาจจะกำลังเป็นที่เพ่งเล็งของผู้ร้ายก็ได้ เพราะขาดการสังเกต ไม่รับรู้ และไม่ได้ยินเสียงเตือนแต่อย่างใด
สาเหตุหูตึง....ก่อนวัย
การใส่หูฟังที่มีระดับเสียงดังมากเกินติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้เกิดความดันของคลื่นเสียง ซึ่งจะทำลายเซลล์ประสาทหูและเซลล์ขนในหู จึงมีผลต่อระบบประสาทการได้ยิน และจะส่งผลให้เซลล์ประสาทรับสัญญาณในหูเสื่อมลงไปเรื่อยๆ ทำให้สูญเสียการได้ยินทีละน้อย…ทีละน้อย จนกระทั่งเกิดอาการหูตึง หรือหูหนวกในที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น ที่ใช้หูฟังฟังเพลงติดต่อกันเป็นเวลานานหลายชั่วโมง การเปิดเพลงดังๆ ในห้อง การใช้สมอลทอล์กคุยโทรศัพท์ เมื่อทำกิจกรรมเหล่านี้เป็นประจำจึงมีโอกาสทำให้หูตึงมากกว่าคนที่ไม่ใช้ และการใช้หูฟังในที่สาธารณะ หรือสถานที่ที่มีเสียงดังมากๆ ต้องเพิ่มระดับเสียงให้ดังกว่าซึ่งอาจมากถึง 105 เดซิเบล ขณะที่โดยปกติหูคนเราสามารถรับเสียงได้ไม่เกิน 85 เดซิเบล เท่านั้น จึงส่งผลในอนาคตอาจทำให้หูไม่ได้ยินเสียงพูดในระดับปกติเนื่องจากหูคนเรานั้นมีความทนต่อเสียงในขอบเขตที่จำกัด
สัญญาณ....อาการหูตึงจากหูฟัง
การได้ยินเสียง วิ้งๆ ในหู เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าระดับเสียงที่กำลังใช้เกินกว่า Limit ที่หูของตนจะรับได้ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนของอาการหูตึงและหูหนวกที่จะตามมา เสียงดังกล่าว หากถึงแม้ว่าถอดหูฟังแล้วแต่ยังได้ยิน นั่นแสดงว่าเซลล์ประสาทได้รับการกระทบกระเทือนจากเสียง ถ้าเป็นไม่มากนักเพียงหยุดพักการใช้หูฟังสักระยะหนึ่งก็จะกลับมาฟังได้ยินตามปกติ แต่......ถ้าก่อนหน้านี้คุยกันได้ยินชัดเจนดีอยู่ๆกลับไม่ได้ยินจนถึงกับต้องตะโกน แสดงว่าเริ่มมีอาการหูตึงเกิดขึ้น ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้หูตึงจึงควรสังเกตจากอาการ ดังนี้
- ได้ยินเสียงวิ้งๆ ในหู ทั้งที่ไม่ได้เปิดเพลง หรือใช้หูฟัง
- มีอาการมึนงง หรือยืนทรงตัวไม่ได้ เมื่อตื่นนอน
- เริ่มได้ยินเสียงไม่ชัดหูอื้อจนทำให้เกิดปัญหาในการสื่อสาร
- มีเสียงสั่นเสียงหึ่งๆ เสียงอู้อี้ในหูข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง - ปวดในช่องหูเมื่อได้ยินเสียงดัง
การสูญเสียการได้ยินย่อมไม่เป็นที่ต้องการของใครและเมื่อเป็นแล้วมักไม่มีโอกาสหายเป็นปกติได้ สิ่งที่จะช่วยป้องกันอาการเสื่อมของหูเราได้ดีที่สุด คือการรู้จักใช้ความพอดีและความเหมาะสมในการใช้หูฟัง ฉะนั้น เมื่อมีอาการ ดังกล่าวข้างต้น ก็ควรหยุดใช้หูฟัง และไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาต่อไป
ใช้หูฟังอย่างไรให้ปลอดภัย
ปกติแล้วหูของเรานั้นหากได้ยินเสียงที่ดังเกินกว่า110 เดซิเบล ก็จะมีผลต่อเซลล์ประสาทหูทันทียิ่งถ้าเป็นการฟังระยะประชิดแบบใส่หูฟังก็ยิ่งส่งผลร้ายแรง หากฟังสียงดังมากๆ และบ่อยๆ จะเกิดอาการหูดับจากเยื่อแก้วหูขาดได้ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย ในการใช้หูฟัง มีข้อแนะนำ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการใช้หูฟังฟังเพลงในที่ที่มีเสียงดัง ซึ่งระดับเสียงไม่ควรเกิน50%ของระดับเสียงสูงสุด หรือปรับระดับเสียงไปที่ระดับกลาง และไม่ควรฟังต่อเนื่องเกิน 2 ชั่วโมง
- ไม่ควรเสียบหูฟังฟังเพลงตลอดเวลา แม้กระทั่งเวลาเข้านอน ฟังเฉพาะในช่วงเวลาที่ต้องการหรือฟังเป็นบางช่วง ปล่อยให้หูได้พักบ้าง จะได้ลดอัตราเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพหู
- หลีกเลี่ยงการใช้หูฟังร่วมกับคนอื่น เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคบางชนิดเช่น โรคผิวหนัง
- หมั่นทำความสะอาดหูฟัง เปลี่ยนฟองน้ำที่ใช้รองหูฟังบ่อยๆ เพื่อป้องกันการสะสมของฝุ่นและเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคต่างๆ เช่น หนองในหู หรือการอักเสบในช่องหู
จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่า “หูฟัง” นอกจากให้ความบันเทิงแบบ “โลกส่วนตัว” แล้วยังมีผลต่อประสาทการได้ยินถึงขั้นเสี่ยงต่อความพิการได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากผู้ใช้ควบคุมการใช้ให้อยู่ในเกณฑ์พอดี พอเหมาะ ทั้งระดับเสียงและระยะเวลา ก็จะไม่เกิดอันตรายแต่อย่างใด แต่...ทั้งนี้ ควรหมั่นสังเกตตนเองหากหูมีอาการผิดปกติ ให้รีบพบแพทย์ โดยด่วน
ขอขอบคุณ ข้อมูลอ้างอิง : www.manager.co.th , www.khaosod.co.th , kapook.com , mcp.ac.th
เว็บไซต์นี้ เป็นเว็บไซต์หน่วยงานของรัฐในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ สป.อว. เพื่อเข้าสู่มาตรฐานการบริหารจัดการภาครัฐ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของสำนักงานปลัดกระทรวง โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
Comments powered by CComment