เรียบเรียงโดย.....บุญสรอย บุญเอื้อ
ปัจจุบัน คอมพิวเตอร์เป็นที่รู้จักและมีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวันของแต่ละคน ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงผู้ใหญ่ ต่างก็มีความจำเป็นในการใช้คอมพิวเตอร์ ทั้งเพื่อการศึกษา การทำงานและความบันเทิงในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งบางคนต้องนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานหลายชั่วโมง จึงทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่อตนเอง แต่อย่างไรก็ตามโรคบางโรคเราสามารถหลีกเลี่ยงและป้องกันได้ หรือไม่ก็ชะลอจนกว่าจะถึงวัยอันควร และในที่นี้จะกล่าวถึงโรคที่มีสาเหตุมาจาก การใช้คอมพิวเตอร์ไม่ถูกต้องและใช้สายตามากเกินไป จนทำให้เกิดโรคที่เรียกว่า “โรควุ้นตาเสื่อม” ได้
น้ำวุ้นตา (Vitreous) ลูกตาคนเรานั้นจะมีน้ำวุ้นตาเป็นสารใสคล้ายเจล บรรจุอยู่ภายในลูกตาส่วนหลัง ทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้แสงผ่าน ให้สารอาหารแก่จอประสาทตาและเซลผนังลูกตาชั้นในและเป็นตัวพยุงลูกตาให้คงรูปเป็นทรงกลม
น้ำวุ้นตาเสื่อม เป็นภาวะที่น้ำวุ้นตาละลายเป็นน้ำ เริ่มแรกจะละลายตรงกลางก่อนเมื่อเป็นมากขึ้น ก็จะเกิดการร่อนตัวของน้ำวุ้นออกจากจอประสาทตา อาการนี้มักจะพบในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่จะมีบางปัจจัย ที่มีผลให้เกิดความเสื่อมของน้ำวุ้นตาเร็วกว่าปกติ เช่น สายตาสั้น อุบัติเหตุที่ตา การอักเสบในลูกตา เป็นต้น
คอมพิวเตอร์เป็นสาเหตุของโรควุ้นตาเสื่อม ได้อย่างไร
โดยปกติแล้วสายตาจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 40 ปี ขึ้นไป ยกเว้นผู้ที่เพ่งสายตามากๆ และใช้ติดต่อกันครั้งละนานๆ เช่น ช่างเจียระไนเพชรพลอย อาจมีโอกาสเกิดเร็วขึ้น แต่ในระยะหลังกลับพบโรคนี้ในวัยหนุ่มสาวคนทำงานออฟฟิศกันมากขึ้นจนน่าตกใจ เรียกได้ว่า โรควุ้นในตาเสื่อม เป็นหนึ่งในโรค Office syndrome และยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยจากหลากหลายอาชีพที่เป็นโรคนี้ และยังเกิดก่อนวัยอันควรอีกด้วย โดยมีสาเหตุมาจากการใช้สายตามากเกินไป หรือเพ่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน โทรศัพท์มือถือ รวมถึงการดูโทรทัศน์ด้วย ซึ่งการเพ่งสายตาติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ไม่ว่าจะเพื่อการทำงาน การศึกษา ความบันเทิง เล่นอินเตอร์เน็ต สืบค้นข้อมูล อ่านข้อมูลบนจอ แชต เล่นไลน์ หรือเล่นเกมก็ตามจะก่อให้เกิดปัญหากับดวงตาทั้งสิ้น หากมีการใช้งานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ ก็จะทำให้สายตาเสียและนำไปสู่ “โรควุ้นตาเสื่อม” รวมทั้งพฤติกรรมและวิธีการใช้งานดังนี้
1. การเพ่งหน้าจอคอมพิวเตอร์นานเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกม เล่นเน็ต อ่านไดอารี่ อ่านบทความ อ่านหนังสือ หรืออ่านอะไรก็ตามที่อยู่บนจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นการมองตัวหนังสือที่แขวนลอยอยู่บนจอ เพราะตัวหนังสือบนจอคอมพิวเตอร์นั้นมีลักษณะเป็นจุดๆ ประกอบกัน ขอบของตัวหนังสือไม่ชัด โฟกัสไม่แน่นอน สมองจะสับสนในการปรับระยะโฟกัส กล้ามเนื้อลูกตาต้องทำงานหนัก
2. การเลื่อนตัวหนังสือและแถบบรรทัด จะต้องใช้เมาส์คลิ้ก ลากแถบด้านข้างเพื่อเลื่อนบรรทัดขึ้นลง โดยมีลักษณะการเลื่อนแบบกระตุกๆ
3. การก้มๆ เงยๆ มองแป้นพิมพ์ และมองจอคอมพิวเตอร์กลับไปกลับมาลูกตาปรับโฟกัสบ่อยเกินไป
4. การปรับจอภาพที่มีแสงสว่างจ้าเกินไปโดยไม่รู้ตัว เช่น การเปิดโปรแกรม Word ในการทำพิมพ์เอกสาร ตัวหนังสือจะเป็นสีดำ และพื้นเป็นสีขาว สีพื้นที่สว่างนี้เอง หากใช้งานติดต่อเป็นเวลานานจะทำให้ตาเกิดอาการแพ้แสง ซึ่งมีอาการคล้ายๆ กับการเปิดทีวีดูในห้องมืดๆ เป็นประจำ
5. การใช้จอภาพคอมพิวเตอร์ที่มีความกว้างมากเกินไป ซึ่งสายตาคนเรานั้นมีระยะการมองตัวอักษร ที่ 1ฟุต (12นิ้ว) แต่จอคอมพิวเตอร์สมัยใหม่กลับมีความกว้าง 17 นิ้ว, 19 นิ้ว หรือมากกว่านั้นซึ่งมีขนาดกว้างเกินระยะกวาดสายตาที่ต้องมองจากขอบหนึ่งไปสู่อีกขอบหนึ่ง การอ่านหนังสือบนจอเพียง 1 ชั่วโมง ลูกตาจะต้องทำงานปรับโฟกัส กลับไปกลับมา เป็นพันๆ ครั้ง หากใช้งานติดต่อกันนานๆ ก็จะทำให้สายตาเสียได้
การป้องกัน
1. ไม่ควรใช้สายตาจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรพักสายตาประมาณ 15 – 20 นาที ต่อการใช้งาน 1 – 2 ชั่วโมง
2. ไม่ควรอ่านหนังสือผ่านจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ควรอ่านจากแผ่นกระดาษ ระยะห่างระหว่างลูกตากับตัวหนังสือ จะคงที่แน่นอน ขอบตัวหนังสือคมชัดทำให้สมองกะระยะโฟกัสได้ถูกต้องแน่นอน กล้ามเนื้อและประสาทจะได้ทำงานคงที่
3. ต้องหมั่นสังเกตอาการของโรคและระวังตัวเองอยู่เสมอ หากมีอาการผิดปกติให้พบจักษุแพทย์ทันที
อาการของโรค
อาการที่ไม่เป็นอันตราย คือ จะเห็นเป็นคราบดำๆ เป็นจุด หรือเป็นเส้นรูปร่างต่างๆ คล้ายหยากไย่ลอยไปลอยมา เหมือนคราบที่ติดกระจก ถ้ามองไปยังภาพพื้นหลังที่มีสีสว่าง เช่น ท้องฟ้าขาวๆ หรือฝาผนังห้องขาวๆ จะสังเกตเห็นได้ชัดเจน อาการเหล่านี้เกิดจากน้ำวุ้นตาละลาย ซึ่งยังไม่เป็นอันตรายมากนักและมักจะชินไปเอง
อาการที่เป็นอันตราย คือ การมองเห็นแสงเหมือนแสงแฟลช หรือเหมือนสายฟ้าแลบทางหางตาในที่มืดไม่ว่าหลับตาหรือลืมตา ซึ่งเป็นอาการที่เกิดจากน้ำวุ้นตาร่อนตัวออกจากประสาทตา และจอประสาทตา ฉีกขาด จะต้องรีบพบจักษุแพทย์เพื่อรักษาและป้องกันการเกิดจอประสาทตาหลุดลอก
การรักษาจอประสาทตาฉีกขาดและหลุดลอก
หลักการรักษา คือ จะต้องปิดรอยขาด และทำให้จอประสาทกลับติดไปเหมือนเดิม ซึ่งทำได้หลายวิธีขึ้นกับความรุนแรงของโรค ตำแหน่งที่ฉีกขาดและลักษณะของลูกตา เช่น การฉายแสงเลเซอร์ที่ก่อความร้อน การจี้ด้วยความเย็น อาจร่วมกับการฉีดก๊าซเข้าในน้ำวุ้นตาเพื่อกดจอประสาทตาที่หลุดให้ราบ หรือทำการผ่าตัดหนุนผนังลูกตาจากด้านนอก หรือผ่าตัดน้ำวุ้นตา
การผ่าตัดรักษาจอประสาทตาที่หลุดลอกให้กลับติดเข้าที่ จะสามารถ ช่วยลดการสูญเสียการมองเห็น และทำให้การมองเห็นฟื้นตัวได้ แต่การมองเห็นหลังผ่าตัดจะดีมากหรือน้อยขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของรอยโรค ระยะเวลาและตำแหน่งที่จอประสาทตาหลุดลอก สภาพเดิมของจอประสาทตา ตลอดจนสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยเองด้วย แพทย์จึงไม่สามารถให้การยืนยันได้ว่าหลังผ่าตัดผู้ป่วยจะมองเห็นขึ้นได้ดีแค่ไหน แต่ควรจะดีกว่าก่อนผ่าตัด และถ้าไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็จะตาบอดในที่สุด
การดูแลและปฏิบัติตนหากมีอาการของโรค
ผู้ที่มีวุ้นตาเสื่อมประเภทที่เป็นอันตราย ควรปฏิบัติตามจักษุแพทย์และพยาบาลจักษุแนะนำอย่างเคร่งครัดดูแลสุขภาพตนเองไม่ให้เกิดความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายที่พอเหมาะกับสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ อย่าออกแรงหนัก อย่าหักโหม หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุต่างๆ ที่จะส่งผลถึงดวงตา พยายามอย่าหันหน้าเร็วๆ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ รวมทั้งวิตามินและเกลือแร่ และหากมีโรคทางกายเรื้อรัง เช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือดสูง ก็ต้องควบคุมให้ดี
ข้อคิด
คอมพิวเตอร์นั้นมีไว้สำหรับการค้นหาข้อมูล ไม่ได้มีไว้ให้อ่านเป็นประจำ ฉะนั้น เพื่อรักษาสุขภาพตา ควรอ่านหนังสือบนกระดาษจะช่วยให้ลดการเกิด “โรควุ้นในตาเสื่อม” ได้
ขอขอบคุณ ข้อมูลอ้างอิง : Yutthana.com , Kapook.com
Comments powered by CComment