กระทรวง อว. เปิดตัวแพลตฟอร์มออนไลน์ “Future Skill x New Career Thailand” นำร่อง 30 หลักสูตรจาก 19 มหาวิทยาลัยชั้นนำ ในรูปแบบเรียนฟรี มีเพียงบางหลักสูตรที่เก็บค่าใช้จ่ายไม่เกิน 1,000 บาท ช่วยเพิ่มโอกาสสร้างงาน สร้างอาชีพหลังวิกฤต COVID-19 ทันที
Future Skill New Career Thailand แพลตฟอร์มที่จะสร้างโอกาสให้คนไทยทุกภาคส่วน ได้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ พัฒนาทักษะให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและตอบโจทย์ให้กับอาชีพในอนาคต เปลี่ยนจาก ‘ความกลัว’ ให้กลายเป็น ‘ความหวัง’ มาร่วมพลิก ‘วิกฤต’ ด้วย ‘โอกาส’ ไปกับพวกเรา แล้วเราจะก้าวผ่านไปด้วยกัน
ด้วย เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา อว. ทำ MOU ร่วมกับ 19 มหาวิทยาลัย เปิดหลักสูตรเพิ่มทักษะรองรับงานหลังวิกฤต COVID-19 ครอบคลุม 9 ทักษะใน 12 สาขาอุตสาหกรรม นำร่องใน 8 กลุ่มสาขาอาชีพ ด้วยงบประมาณ 14 ล้านบาท คาดจะพัฒนาได้กว่า 3,000 คน ในปี 63 โดยมี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รมว.อว.) เป็นประธานการประชุม เพื่อลงนามความร่วมมือ ตามโครงการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ (Re-skill, Up-skill, New-skill) โดยมี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดร.อรสา ภาววิมล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา คุณสัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานกรรมการบริหารโครงการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศฯ ผู้บริหาร สป.อว และผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วมงานการประชุมและร่วมงานผ่านระบบออนไลน์เป็นจำนวนกว่า 100 คน
ดร.อรสา ภาววิมล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวรายงานถึงโครงการว่า โครงการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ (Reskill/ Upskill/ Newskill) เพื่อการมีงานทำและเตรียมความพร้อมรองรับการทำงานในอนาคตหลังวิกฤตการระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) มีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาและยกระดับศักยภาพคนไทยให้พร้อมทำงานในอนาคตหลังสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้น กลุ่มเป้าหมายของโครงการ จึงครอบคลุมทั้งผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด แรงงานคืนถิ่น และกลุ่มกำลังคน ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการที่จำเป็นต้องยกระดับทักษะชั้นสูงให้สอดคล้องกับการทำงานในโลกอนาคต
รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า สถาบันอุดมศึกษานำร่องในโครงการที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 19 แห่งนั้น มีมหาวิทยาลัยของรัฐ 17 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยศิลปากร, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยแม่โจ้, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานวิทยาเขตนครราชสีมา, มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์, มหาวิทยาลัยสวนดุสิต, และมีมหาวิทยาลัยเอกชนนำร่อง 2 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยศรีปทุมและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยโครงการฝึกอบรมที่จะจัดได้ผ่านการพิจารณาคัดเลือกจากกรรมการฯ ของ อว. แล้ว ในหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non degree) รวม 30 หลักสูตร จะเน้นเป็นหลักสูตรเพิ่มทักษะรองรับงานหลังวิกฤต COVID-19 ซึ่งสถาบันอุดมศึกษานำร่องจะต้องดำเนินการตามเงื่อนไขภายใต้คุณภาพมาตรฐานตามกฏหมายและเข้าสู่กระบวนการประเมินผลโครงการเพื่อความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ โดย สป.อว.จะสนับสนุนงบประมาณรวมทั้งสิ้น 14 ล้านบาท ซึ่งคาดจะพัฒนาคนได้กว่า 3,000 คน ภายในปี 2563
ดร.สุวิทย์ รมว.อว. กล่าวว่า อว. มีหน้าที่หลักในการพัฒนากำลังคนของประเทศ ดังนั้น อว. จึงต้องเร่งเตรียมความพร้อมให้คนไทยเพื่อรองรับการทำงานในอนาคตหลังวิกฤต COVID-19 ที่จะส่งผลกระทบถึงความเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและวิถีการดำเนินชีวิตคน ด้วยการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ (Re-skill, Up-skill, New-skill) เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการพัฒนากำลังคนของประเทศ และเป็นการจัดการศึกษาตลอดชีวิต (Life Long Learning) และรองรับงานใหม่ ๆ ในรูปแบบใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะเริ่มจัดอบรมตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งจะครอบคลุม 9 ทักษะใน 12 สาขาอุตสาหกรรม 8 กลุ่มสาขาวิชาชีพ ได้แก่ (1) Smart Innovative Entrepreneur (2) Smart Farming (3) Care Giver (4) Smart Tourism (5) Data Science (6) Creative content (7) Food for the future และ (8) Robotic/AI
ผู้สนใจสามารถสมัครได้แล้ววันนี้ ทาง www.futureskill-newcareer.in.th
และมาเป็นเพื่อนกันเพื่อรับข่าวสารหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม แค่ Add LINE @fsncth หรือคลิก https://lin.ee/18AbSEl0T
#MHESI #FSNCTH #Reskill #Upskill #สร้างคนสร้างงาน
เว็บไซต์นี้ เป็นเว็บไซต์หน่วยงานของรัฐในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ สป.อว. เพื่อเข้าสู่มาตรฐานการบริหารจัดการภาครัฐ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของสำนักงานปลัดกระทรวง โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป