กลุ่มพัฒนาระบบสารสนเทศ (พร.กรข.) มีหน้าที่
- ศึกษา วิเคราะห์ ออกแบบ วิจัย พัฒนา และบริหารจัดการฐานข้อมูลการอุดมศึกษา ฐานข้อมูลมาตรฐานการอุดมศึกษา และสนับสนุนการจัดทำฐานข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ รวมทั้งฐานข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
- ศึกษา วิเคราะห์ ออกแบบ วิจัย พัฒนา และบริหารจัดการ ระบบสารสนเทศ ระบบฐานข้อมูลในการสนับสนุนการปฏิบัติงาน การวางแผน การบริหารจัดการ การติดตาม ประเมินและรายงานผล เพื่อมุ่งสู่การเป็นระบบสำนักงานอิเล็กทรอนิกส์ ของสำนักงานปลัดกระทรวง
ระบบสารสนเทศ ระบบฐานข้อมูลในการสนับสนุนการปฏิบัติงาน ได้แก่
- ระบบสารสนเทศที่สนับสนุนการปฏิบัติงานตามภารกิจของสำนักงานปลัดกระทรวง/กระทรวง
- ระบบสารสนเทศที่สนับสนุนการปฏิบัติงานภายในสำนักงาน (Back Office)
- เว็บไซต์ของกระทรวง อว. และ สำนักงานปลัดกระทรวง อว. (Website)
โดยกระบวนการพัฒนาระบบจะดำเนินการตามวัฏจักรการพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือ Software Devleopment Life Cycle : SDLC ดังนี้
วัฏจักรการพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือ Software Development Life Cycle

เป็นวัฏจักรพื้นฐานในการพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นับตั้งแต่เริ่มเก็บความต้องการ (Get Requirement) ไปจนถึงการสำรวจความเห็นย้อนกลับ (Feedback) มาที่ผู้พัฒนา
Software Development Life Cycle มีส่วนประกอบพื้นฐาน ดังต่อไปนี้
1. Planning: วางแผนโครงการ
การวางแผนการพัฒนาซอฟต์แวร์ เริ่มต้นจาก การเก็บความต้องการ (Get Requirement) ทั้งจากลูกค้า (Customer) หรือผู้ใช้งาน (User) อาจจะเป็นการกำหนดจากขั้นตอนทางธุรกิจ หรือ Business Process ก็ได้
2. Analysis: วิเคราะห์โครงการ
เมื่อเราได้ความต้องการจากลูกค้า หรือผู้ใช้งานแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการวิเคราะห์ระบบ ซึ่งจะต้องวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการลงทุน (Return On Investment: ROI) ว่าคุ้มค่าในการดำเนินการต่อหรือไม่
เมื่อเราคำนวณความคุ้มค่าของโครงการแล้ว จึงจะนำมาจัดทำขอบเขตของโครงการ หรือ Project Scope Of Work เพื่อกำหนดขอบเขตการพัฒนาซอฟต์แวร์ว่าเราจะทำหรือไม่ทำอะไรบ้าง โดยขั้นตอนนี้จะต้องสรุปกับลูกค้า หรือผู้ใช้งาน ตามความต้องการ (Requirement) ที่ได้เก็บมาตั้งแต่ต้น จนได้ข้อสรุปที่ตกลงได้ทั้ง 2 ฝ่าย
เมื่อเราสามารถสรุปขอบเขตของโครงการได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การทำแผนการปฏิบัติการ หรือ Action Plan เพื่อกำหนดการทำงานภายใต้ระยะเวลาตามที่ได้สรุปกับลูกค้า หรือผู้ใช้งาน ในขอบเขตของโครงการ (Project Scope Of Work)
3. Design: ออกแบบระบบ
การออกแบบระบบนี้ นอกจากการออกแบบทางด้านซอฟต์แวร์ ทั้งหน้าจอตอบสนองผู้ใช้งาน (User Interface: UI) และการโค้ดซอฟต์แวร์ (Software Coding) ด้วยการทำรายละเอียดซอฟต์แวร์ หรือ Software Specification แต่จะรวมถึงการออกแบบฐานข้อมูล (Database Design) และเครือข่าย (Network Design) ด้วย เพื่อให้ซอฟต์แวร์สามารถทำงานได้ตามความต้องการของลูกค้า หรือผู้ใช้งาน
4. Implementation: พัฒนาซอฟต์แวร์และติดตั้ง
เมื่อทำการออกแบบระบบเรียบร้อยแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้ใช้งานได้จริง โดยพัฒนาซอฟต์แวร์ตามที่ได้ออกแบบไว้แล้ว ให้กลายเป็นความจริง สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงตามความต้องการของลูกค้า หรือผู้ใช้งาน ตามที่ได้เก็บมา
ขั้นตอนนี้จะทำอยู่ในสภาวะแวดล้อมทดสอบ หรือ Test Environment
5. Testing & Integration: ทดสอบและนำไปใช้งาน
หลังจากพัฒนาซอฟต์แวร์แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการทดสอบและการบูรณาการ จะต้องทำการทดสอบจนกว่า ความผิดพลาดของซอฟต์แวร์ หรือบั๊ก (Bug) จะลดน้อยมากที่สุด หรือไม่มีเลยก็ยิ่งดี
การทดสอบซอฟต์แวร์จะมี 2 ขั้นตอน คือ
– การทดสอบระบบย่อย หรือ Unit Test เป็นการทดสอบระบบย่อยๆทีละระบบว่า สามารถทำงานได้ตามที่ออกแบบไว้หรือไม่
– การทดสอบทั้งระบบ หรือ System Integrate Test (SIT) เป็นการเอาระบบย่อยๆ หลายๆระบบ มารวมกันให้ทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตรงตามความต้องการที่เก็บมาจากลูกค้า หรือผู้ใช้งาน
เมื่อทำการทดสอบเสร็จแล้ว จึงจะนำไปให้ลูกค้า หรือผู้ใช้งาน ทำการทดสอบครั้งสุดท้ายก่อนใช้งานจริง (User Acceptance Test: UAT) เมื่อลูกค้า หรือผู้ใช้งานทดสอบระบบและลงนามในเอกสาร UAT เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงจะเริ่มใช้งานระบบจริง หรือ Go Live โดยการนำระบบที่อยู่ในสภาวะแวดล้อมทดสอบ (Test Environment) ขึ้นไปที่สภาวะแวดล้อมใช้งานจริง (Production Environment)
6. Maintenance: บำรุงรักษาซอฟต์แวร์
เมื่อทำการ Go Live ระบบแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การบำรุงรักษาซอฟต์แวร์
เมื่อใช้งานไปสักระยะ ลูกค้า หรือผู้ใช้งาน อาจจะพบข้อผิดพลาดของซอฟต์แวร์ (Bug) เพิ่มเติม หากสามารถแก้ไขได้ ก็ให้ทำการแก้ไข
แต่ถ้าหากแก้ไขไม่ได้ จำเป็นต้องพัฒนาซอฟต์แวร์เพิ่มเติม ก็ให้ย้อนกลับไปทำตั้งแต่ข้อ 1 วางแผนและเก็บความต้องการจากลูกค้า หรือผู้ใช้งานใหม่อีกครั้ง
หน่วยงานใน สป.อว. สามารถแจ้งความประสงค์ในการพัฒนาระบบสารสนเทศ ได้ที่แบบฟอร์มคำขอพัฒนา/ปรับปรุงระบบสารสนเทศ เพื่อที่ พร.กรข. จะได้วางแผนการพัฒนาระบบสารสนเทศต่อไป